วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์กับต่างชาติ

จักรวรรดิมองโกล
กองทัพจักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800
(ค.ศ. 1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก

หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปรากฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสร็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการนี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่างๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน

อาณาจักรล้านนา
ในปี พ.ศ. 1839 พญามังราย (พ.ศ. 1804 - 1854) ได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า นภบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ (เชียงใหม่) เพื่อที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและ พญางำเมือง ได้เสด็จมาช่วยด้วย

อาณาจักรอยุธยา
หลังจากมีการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา แรกนั้นสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้เป็นไมตรีต่อกัน แต่ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า ทำให้อยุธยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของสุโขทัยมิได้เป็นไปโดยสงบ มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่าง พระยาบาลเมือง พระยาราม ยังผลให้อยุธยาสบโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ในรัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากอยุธยาโดยการสมรสระหว่างราชวงศ์พระร่วง กับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีพระราเมศวร ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชบุตรจากสองราชวงศ์

ลังกา
สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับลังกาทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์โดยรับมาจากนครศรีธรรมราชอีกที นอกจากนี้ สุโขทัยก็ยังมีความสัมพันธ์กับลังกาโดยตรง ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกาอีกด้วย

หัวเมืองมอญ
สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะการค้าในระบบบรรณาการ คือ สุโขทัยจะต้องส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน เพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อจีน และเมื่อเดินทางกลับ จีนก็ได้จัดมอบสิ่งของให้คณะทูตนำกลับมายังสุโขทัยด้วย และทำให้ได้รับวีธีการทำเครื่องปั้นดินเผาจากช่างจีนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น