วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

กรุงรัตนโกสินทร์ หรือ "กรุงเทพมหานคร" เป็นราชธานีของไทย ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับที่ตั้งของกรุงธนบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระนครขึ้น โดยทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองของพระนครใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว 45 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325

ทั้งนี้ ได้พระราชทานนามของพระนครว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมารอวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์"แปลว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตย์ของพระแก้วมรกต เป็นพระมหานครที่ไม่มีใครรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ไปด้วยแก้วเปราะน่ารื่นรมย์ยิ่ง พระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานของเทพผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษนุกรรมลงมาเนรมิตไว้ เรียกสั้นๆ ว่า "กรุงเทพฯ" "กรุงเทพมหานคร" หรือ "กรุงรัตนโกสินทร์" ซึ่งคำว่ากรุงเทพในตอนต้นชื่อนั้น สันนิษฐานว่ามากจากชื่อหน้าของ อยุธยา ว่า กรุงเทพ ทราราวดีศรีอยุธยา (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยพระนามพระนครจาก "บวรรัตนโกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์")

สภาพภูมิประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น กรุงตั้งอยู่บริเวณแหลมยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านลงมาจากทางเหนือ ผ่านทางตะวันตกและใต้ก่อนที่จะมุ่งลงใต้สู่อ่าวไทย ทำให้กรุงดูคล้ายกับกรุงศรีอยุธยา รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้ขุดคูพระนครตั้งแต่บางลำภูไปถึงวัดเลียบ ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์มีสภาพเป็นเกาะสองชั้น คือส่วนที่เป็นพระบรมมหาราชวังกับส่วนระหว่างคูเมืองธนบุรี(คลองคูเมืองเดิม)กับคูพระนครใหม่ ในขณะเดียวกันได้มีการสร้างพระบรมมหาราชวังแบบง่ายๆเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พอประกอบพิธีแล้วจึงรื้อของเก่าออกและก่ออิฐถือปูน ส่วนกำแพงพระนครนั้น นำอิฐจากกรุงศรีอยุธยามาใช้สร้าง

กรุงรัตนโกสินทร์ถือว่ามีชัยภูมิชั้นดีในการป้องกันศึกในสมัยนั้น คือพม่า ด้วยเนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางทางตะวันตก นอกจากนี้กรุงธนบุรีเดิมก็สามารถดัดแปลงเป็นค่ายรับศึกได้ แต่เหตุการณ์ที่พม่าเข้าเหยียบชานพระนครก็ไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้ง เป็นที่สังเกตว่า การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นการลงหลักปักฐานของคนไทยอย่างเป็นทางการหลังกรุงแตก เพราะมีการสร้างปราสาทราชมณเฑียรอย่างงดงามต่างจากสมัยธนบุรี ทั้งๆที่ขณะนั้นเกิดสงครามกับพม่าครั้งใหญ่

กรุงรัตนโกสินทร์แล้วเสร็จจริงๆในปี พ.ศ. 2327 มีการสมโภชพระนครครั้งใหญ่ มีการลอกองค์ประกอบของกรุงศรีอยุธยามามากมาย เช่นวัดสุทัศน์แทนวัดพนัญเชิญ มีพระบรมมหาราชวังอยู่ริมน้ำ เป็นต้น แต่กรุงรัตนโกสินทร์ถูกสร้างต่อมาจนสมบูรณ์หมดจริงๆ ในช่วงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลต่อมาจึงขยายพระนคร

การขยายพระนครนั้นเริ่มในสมัยรัชกาลที่4 เมื่อมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมขึ้น พร้อมสร้างป้อมแต่ไม่มีกำแพง นอกจากนี้ยังมีการตัดถนนเจริญกรุงและพระรามสี่หรือสมัยนั้นเรียกถนนตรง ทำให้ความเจริญออกไปพร้อมกับถนน สรุปได้ว่าในรัชกาลที่ 4 เมืองได้ขยายออกไปทางตะวันออก ในรัชกาลที่ 5 ความเจริญได้ตามถนนราชดำเนินไปทางเหนือพร้อมกับการสร้างพระราชวังดุสิตขึ้น กำแพงเมืองต่างๆเริ่มถูกรื้อเนื่องจากความเจริญและศึกต่างๆเริ่มไม่มีแล้ว

หลังจาก ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสยกเรือรบมาถึงบางรัก ก็เป็นแค่ไม่กี่ครั้งที่ข้าศึกต่างชาติเข้าถึงชานพระนครได้ ความเจริญได้ตามไปพร้อมกับวังเจ้านายต่างๆนอกพระนคร ทุ่งต่างๆกลายเป็นเมือง และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เกิดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก เป็นสะพานข้ามทางรถไฟชื่อสะพานพระรามหก จนถึงรัชกาลที่ 7 ฝั่งกรุงธนบุรีกับพระนครได้ถูกเชื่อมโดยสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพุทธ)ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกขึ้นมามาก หลังจากนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในรัชกาลที่ 8 พระนครถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรบ่อยครั้ง แต่พระบรมมหาราชวังปลอดภัยเนื่องจากทางเสรีไทยได้ระบุพิกัดพระบรมมหาราชวังมิให้มีการยิงระเบิด เมื่อสิ้นสงครามแล้วพระนครเริ่มพัฒนาแบบไม่หยุด เกิดการรวมจังหวัดต่างๆเข้าเป็นกรุงเทพมหานคร และได้เป็นเขตปกครองพิเศษหนึ่งในสองแห่งของประเทศไทย

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
  • พ.ศ.2325
    ได้อัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเดือนมิถุนายน ในขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา ทรงย้ายราชธานีมาอยู่บางกอก บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก ขนานนามว่า กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้ขุดคลองบางลำพู หรือคลองโอ่งอ่าง เป็นคูพระนคร สร้างกำแพงเมือง และป้อมตามแนวคลองคูเมืองใหม่ และตั้งเสาหลักเมือง สร้างหอกลองขึ้นที่หน้าวัดโพธิ์

  • พ.ศ.2327
    โปรดฯ ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน

  • พ.ศ.2328
    เกิดศึก " เก้าทัพ " ที่พม่ายกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ พม่ายกทัพลงไปตีเมืองถลาง คุณหญิงจันทร์ กับน้องสาว ชื่อมุก รบพม่าป้องกันเมืองไว้ได้ ทรงตั้งคุณหญิงจันทร์ เป็นท้าวเทพกษัตรี และนางมุก เป็นท้าวศรีสุนทร

  • พ.ศ.2329
    เสียเกาะหมากให้อังกฤษ (เสียดินแดนครั้งที่ 1)

  • พ.ศ.2331
    สังคยานาพระไตรปิฎก นับเป็นครั้งที่ 9

  • พ.ศ.2336
    เสียมะริด ทะวาย และตะเนาศรี ให้อังกฤษ (เสียดินแดนครั้งที่ 2)

  • พ.ศ.2338
    เชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ มาไว้ที่วังหน้า หรือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

  • พ.ศ.2347
    ทรงตั้งข้าราชการ และผู้รู้หลายท่านให้รวบรวม และชำระกฎหมาย ซึ่งกระจัดกระจายหายสูญไป ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ประมาณ 9 ส่วน เหลือเพียงส่วนเดียวนั้น ให้เรียบร้อยถูกต้องดั่งเดิม แล้วให้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ได้ใช้เป็นระเบียบราชการ มาจนถึงรัชกาลที่ 5 คือ ที่เรียกกันในขณะนี้ คือ กฎหมายตราสามดวง (ตราราชสิงห์ คชสีห์ และบัวแก้ว)

  • พ.ศ.2350
    สร้างวัดสุทัศน์

  • พ.ศ.2351
    เชิญพระศรีศากยมุนี จากเมืองสุโขทัย มาให้ประดิษฐานอยู่ใจกลางพระนคร

  • พ.ศ.2352
    รัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต

  • พ.ศ.2362
    ฉลองวัดอรุณราชวราราม เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ โปรดให้ประกอบพระราชพิธี อาพาธพินาศ สังคายนาสวดมนต์ โปรตุเกสตั้งสถานกงศุลเป็นแห่งแรก

  • พ.ศ.2367
    รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต

  • พ.ศ.2368
    เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาขอเจรจาทำสัญญาค้าขาย

  • พ.ศ.2369
    เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฎ กำเนิดวีรกรรม ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม)

  • พ.ศ.2474
    เกิดน้ำท่วมใหญ่ ที่เรียกว่า น้ำท่วมปีเถาะ

  • พ.ศ.2375
    เอ็ดมันด์ โรเบิร์ด เข้ามาขอทำสัญญาการค้าไทย - อเมริกา เป็นครั้งแรก

  • พ.ศ.2378
    หมอบรัดเลย์ มาถึงไทยนำแท่นพิมพ์หนังสือ กับตัวพิมพ์มาด้วย

  • พ.ศ.2387
    พวกมิชชันนารี ทำหนังสือพิมพ์ข่าวเป็นภาษาไทยขึ้น เป็นครั้งแรก ใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอเดอร์

  • พ.ศ.2392
    เกิดอหิวาตกโรคระบาด ที่เรียกว่า ห่าลงปีระกา มีคนล้มตายหลายหมื่นคน

  • พ.ศ.2394
    เริ่มรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการสวมเสื้อ ในเวลาเข้าเฝ้า สตรีในคณะมิชชันนารี เข้าไปสอนภาษา ในพระบรมมหาราชวัง

  • พ.ศ.2400
    ส่งฑูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ยังประเทศอังกฤษ กำเนิดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รุ่นแรกของไทย เริ่มออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา เริ่มสร้างกำปั่นรบกลไฟ

  • พ.ศ.2404
    โปรดฯ ให้สร้างถนนเจริญกรุงตอนใต้ ที่เรียกว่า ถนนตก และถนนสีลม ในรัชกาลสมัยนี้ ได้เปลี่ยนใช้เงินตราใหม่ เป็นเงินเหรียญ ทั้งเงินบาท เงินสลึง และเงินเฟื้อง กับทำเหรียญทองแดง อันละโสฬส อันละอัฐ อันละซีก เรียกว่าไพ เป็นเงินย่อยแทนเบี้ย

  • พ.ศ.2405
    นางแอนนา เลียวโนเวนส์ เข้ามารับราชการครู สอนภาษาอังกฤษ ในราชสำนัก

  • พ.ศ.2406
    โปรดฯ ให้สร้างถนนบำรุงเมือง สร้างพระเจดีย์ใหญ่ ซึ่งค้างตั้งแต่รัชกาลที่ 3 โดยให้สร้างฐานเป็นภูเขา แล้วสร้างพระเจดีย์ไว้บนยอด เรียกว่า พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และในปีนี้เริ่มมีเงินกระดาษออกใช้

  • พ.ศ.2410
    ตั้งเซอร์ จอห์นเบริง เป็นเอกอัครราชฑูตไทย ประจำยุโรป

  • พ.ศ.2411
    เสด็จทอดพระเนตร สุริยุปราคามิดดวงที่หว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์

  • พ.ศ.2416
    รัชกาลที่ 5 มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา เสด็จออกทรงผนวช เมื่อทรงลาผนวช ทรงว่าราชการสิทธิ์ขาดด้วยพระองค์เอง เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ การตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นการจัดการรั่วไหลของภาษีอากร ซึ่งพวกเจ้านาย และขุนนางบางคน มีผลประโยชน์จากภาษีอากรนี้ และยังเป็นการรวบรวมเงินของรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการ ปฎิรูปการปกครอง

  • พ.ศ.2417
    ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) หรือรัฐมนตรีสภา ประกอบด้วย เจ้านาย และขุนนางอาวุโส 20 คน และองคมนตรีสภา (Privy Council) ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียน อายุลูกทาส ลูกไทย

  • พ.ศ.2425
    ฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี เมอสิเออร์เดอร เลสเซป ที่ขุดคลองสุเอช เข้าเฝ้าจะขอขุดคลองคอคอดกระ แต่ระงับไป

  • พ.ศ.2429
    สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามราชกุมาร

  • พ.ศ.2430
    ตั้งกรมศึกษาธิการ ตั้งกรมยุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหม) กำเนิดโรงเรียนนายร้อยทหารบก

  • พ.ศ.2431
    เสียแคว้นสิบสองจุไทยให้ฝรั่งเศส (เสียดินแดนครั้งที่ 8)

  • พ.ศ.2433
    ประกาศใช้ศักราชใหม่ เรียกว่า " รัตนโกสินทรศก " เป็นรัตนโกสินทรศก 108 และใช้วันทางสุริยคติ ในทางราชการ

  • พ.ศ.2435
    ตั้งกระทรวงครั้งใหญ่ 12 กระทรวง กำเนิดโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรก ตั้งศาลโปริสภา ส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาทหาร ในยุโรปรุ่นแรก

  • พ.ศ.2436
    เปิดรถไฟเอกชนสายปากน้ำ ฉลองพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)

  • พ.ศ.2437
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามกุฎราชกุมารทิวงคต โปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสยามมกุฎราชกุมารแทน

  • พ.ศ.2442
    เริ่มสร้างทางรถไฟสายใต้ และสร้างถนนราชดำเนินนอก

  • พ.ศ.2448
    โปรดฯ ให้เลิกทาส

  • พ.ศ.2449
    ยกเมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง เมืองศรีโสภณ หรือมณฑลบูรพา ให้ฝรั่งเศส แลกกับเมืองตราด (เสียดินแดนครั้งที่ 12)

  • พ.ศ.2451
    ยกเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ (เสียดินแดนครั้งที่ 13) ปีนี้ได้เริ่มใช้มาตราการเงินใหม่ มีอัตรา 1 บาท เท่ากับ 100 สตางค์

  • พ.ศ.2453
    พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์

  • พ.ศ.2454
    ทรงตั้งกองเสือป่า และกองลูกเสือขึ้นในปีนี้ ได้เกิดกบฎ ร.ศ.130 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสนอ แนวทางปฏิวัติประชาธิปไตย ทรงพระกรุณาลดโทษ พวกกบฎเรื่อยมา จนในที่สุดได้ปล่อยจนหมด

  • พ.ศ.2455
    เปลี่ยนใช้ศักราชใหม่เป็น " พุทธศักราช "

  • พ.ศ.2459
    โปรดฯ ให้เลิกหวย ก.ข. และปีต่อมา โปรดฯ ให้เลิกโรงบ่อนเบี้ยจนหมด

  • พ.ศ.2460
    ประกาศสงคราม เข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรรบเยอรมัน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม และส่งทหารไปฝรั่งเศส ได้เปลี่ยนธงชาติ เป็น ธงไตรรงค์ ในปีนี้ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้น

  • พ.ศ.2461
    ทรงทำการทดลอง การปกครองแบบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งเมืองจำลองดุสิตธานี เป็นนครประชาธิปไตยขึ้น มีรัฐธรรมนูญ และมีสภา

  • พ.ศ.2462
    ไทยได้ร้องขอนานาประเทศ ให้เปลี่ยนแปลงสัญญาที่ทำกันไว้ ในเรื่องการศาล และเรื่องภาษี ร้อยชักสาม เพื่อให้ไทยมีอิสระในการศาล และการภาษีอากร สหรัฐอเมริกาตกลงยินยอม แต่นานาประเทศในยุโรปยังไม่ได้ตกลง

  • พ.ศ.2468
    โปรดฯ ตั้ง ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต่างประเทศ เป็นพระยากัลยาณไมตรี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จสวรรคต

  • พ.ศ.2469
    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยมีอิสระเต็มที่ในทางการศาล และการเก็บภาษีอากร

  • พ.ศ.2475
    พิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งมาครบรอบ 150 ปี และเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ วันที่ 24 มิถุนายน เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็น ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

  • พ.ศ.2477
    สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละราชสมบัติ รัฐสภาได้มีมติอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์

  • พ.ศ.2489
    รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น